ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา แขนงวิชาการจัดการดิจิทัลคอนเทนท์ (Digital Content Management: DCM)

สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและคอนเทนท์  ภาควิทยาศาสตร์ประยุกต์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

การจัดการดิจิทัลคอนเทนท์ เป็นสาขาที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง  จากสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ (Library and Information Science) พัฒนามาเป็น สารสนเทศศาสตร์ (Information Science)  และปัจจุบัน เป็น การจัดการดิจิทัลคอนเทนท์ (เราคือนักจัดการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล)

แขนงวิชาสารสนเทศศึกษา สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์  เริ่มต้นจากโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศ เดิมใช้ชื่อเรียกว่า ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2518 เป็นปีแรกในรายวิชาบรรณารักษศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน ที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน โดยใช้รหัสวิชา บรรณ 101 : ห้องสมุดและการค้นคว้า และต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเป็นรายวิชาพื้นฐานในกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ คือเป็น มนุษย์ 1003 : ห้องสมุดและการค้นคว้า และพัฒนามาเป็นรายวิชา 1630101 : สารนิเทศเพื่อการศึกษาและค้นคว้า  และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่การเติมโตของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

พ.ศ. 2480 เริ่มต้นเป็นสถาบันการศึกษา ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2480 ภายใต้ชื่อว่า “โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย” จัดการศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6  และมัธยมศึกษาปีที่ 7-8

พ.ศ. 2501 เปิดสอนหลักสูตรฝึกหัดครู หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. ชั้นสูง)  รับผู้สำเร็จการศึกษา ป.กศ. และกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ยกฐานะโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย เป็น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา จัดการศึกษาเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายอุดมศึกษา ฝ่ายมัธยมศึกษาและฝ่ายประถมศึกษา และเป็นกลุ่ม วิทยาลัยครูจำนวน 17 แห่ง

พ.ศ. 2518 ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูสวนสุนันทา” ตาม พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 จัดการเรียนการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาครุศาสตร์ หลักสูตรสภาการฝึกหัดครู มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2519 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ในช่วงปีแรกยังไม่ได้เปิดสอนวิชาเอก เพียงแต่สอนวิชาพื้นฐานในกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ให้แก่นักศึกษาทุกหลักสูตร คือ วิชา บรรณ 101: ห้องสมุดและการค้นคว้า

พ.ศ. 2520 เปิดหลักสูตร ป.กศ.ชั้นสูง บรรณารักษศาสตร์ มีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาบรรณารักษศาสตร์

พ.ศ. 2525 เปิดหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (คบ.) 2 ปี สาขาบรรณารักษศาสตร์

พ.ศ. 2527 วิทยาลัยครูสามารถเปิดสอน 3 สาขา คือ สาขาการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาศิลปศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัย ฉบับที่ 2

พ.ศ. 2528 เปิดหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (คบ.) 4 ปี สาขาบรรณารักษศาสตร์

พ.ศ. 2538 จาก “วิทยาลัยครู” เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏ” ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 (วันที่ 24 มกราคม 2538) พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานชื่อ สถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 และพระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็น “สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ” เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538

พ.ศ. 2540 เปิดหลักสูตรเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ พุทธศักราช 2540

พ.ศ. 2543 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ โดยเปลี่ยนโครงสร้าง จากภาควิชาเป็นโปรแกรมวิชา ตามหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิต ดังนั้นภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จึงเปลี่ยนเป็นโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์อยู่ในสังกัดของคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์

พ.ศ. 2547 “สถาบันราชภัฏ” เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 (วันที่ 14 มิถุนายน 2547) จึงปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในปี 2547 และเปลี่ยนชื่อเป็น หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

พ.ศ. 2549 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2549 และได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) การจัดการสารสนเทศ พุทธศักราช 2549 เพิ่มอีกหนึ่งสาขาวิชา

พ.ศ. 2554 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2554

พ.ศ. 2558 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2558 ประกอบด้วยแขนงวิชาสารสนเทศศึกษา และแขนงวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เป็นการรวมสาขาระหว่างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ

พ.ศ. 2560 หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต (สท.บ.) สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรปรับปรุงพุทธศักราช 2560 ประกอบด้วยแขนงวิชาสารสนเทศศึกษา และแขนงวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ  ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดชื่อปริญญา พ.ศ.2559 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 วันที่ 14 กรกฎาคม 59 จากชื่อปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ เป็นชื่อปริญญาสารสนเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์

พ.ศ. 2564 หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต (สท.บ.) สาขาการจัดการนวัตกรรมดิจิทัลและคอนเทนท์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2564 ประกอบแขนงวิชาการจัดการดิจิทัลคอนเทน์ (Digital Content Management: DCM) และแขนงวิชาการจัดการนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเติมโตด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์